คอมค้าง

แบ่งปันบทความนี้Share on Facebook
Facebook
Tweet about this on Twitter
Twitter
Email this to someone
email

 

วันนี้จะมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับปัญหา “คอมค้าง” ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร และจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร

คอมค้าง

ลักษณะอาการคอมค้าง

คอมค้างที่ว่านี้หมายถึงคอมพิวเตอร์พีซีหรือโน๊ตบุ๊คที่มีอาการค้างขณะใช้งานอยู่ หรืออาจจะค้างตั้งแต่ตอนเปิดเข้าหน้า desktop เลย คลิกเมาส์เลื่อนเมาส์ก็แทบจะทำไม่ได้ หรือเลื่อนเมาส์ได้แต่คลิกเปิดอะไรไม่ได้เลย ค้างอยู่อย่างนั้น รวมทั้งปัญหาคอมพิวเตอร์ค้างเป็นครั้งคราวด้วย

คอมค้างเกิดจากสาเหตุอะไร

คอมค้างเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังต่อไปนี้

1. ซีพียูใช้งาน 100%
โดยอาจจะกำลัง run program อะไรอยู่ และใช้ cpu กับโปรแกรมนั้นมากจนเกินไป หรือเปิดหลายๆ โปรแกรมพร้อมกัน จนกินซีพียูถึง 100% หรือเกือบๆ 100% นอกจากนี้อาจจะเกิดจากปัญหาไวรัสที่ทำงานด้วยตัวเอง ทำให้กินซีพียูสูงจนก่อให้เกิดปัญหาคอมค้างนั่นเอง

2. แรมไม่พอ
แรมไม่พอเกิดจากการใช้งานโปรแกรมต่างๆ จนแรมหมด ปัญหานี้จะเกิดขึ้นกับคอมพิวเตอร์หรือโน๊ตบุ๊คที่มีแรมน้อย เมื่อแรมถูกใช้งานจนหมด ก็จะพบว่าคอมค้างได้เช่นกัน

3. ฮาร์ดดิสก์มีปัญหา
ฮาร์ดดิสก์ที่มีปัญหาก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของปัญหาคอมค้าง เพราะว่าการทำงานของคอมพิวเตอร์จำเป็นที่จะต้องมีการเขียนอ่านข้อมูลลงบนฮาร์ดดิสก์ แต่หากฮาร์ดดิสก์มีปัญหาแล้ว การเขียนอ่านก็จะทำไม่ได้เหมือนเดิม อาจะจะเขียนอ่านได้ช้ากว่าปกติ หรือเขียนอ่านไม่ได้เลย ทำให้คอมค้างเพราะพยายามเขียนอ่าน แต่ก็ทำไม่ได้ และก็ยังคงพยายามทำต่อไป

โดยปัญหาคอมค้างที่มีสาเหตุมาจากฮาร์ดดิสก์ จะรุนแรงตามความเสียหายของฮาร์ดดิสก์ โดยจะมีตั้งแต่ปัญหาคอมค้างทำอะไรไม่ได้เลยตั้งแต่เข้าหน้า desktop หรืออาจจะค้างเป็นระยะๆ หรือเป็นช่วงๆ ก็ได้

4.  พอร์ทสายสัญญาณของฮาร์ดดิสก์มีปัญหา
อีกกรณีที่เป็นสาเหตุของอาการคอมค้างก็คือพอร์ทของสายสัญญาณฮาร์ดดิสก์มีปัญหา ปัจจุบันก็จะเป็นพอร์ท SATA พอร์ทดังกล่าวก็สามารถเสียได้ตามเวลาการใช้งาน

5.  สายสัญญาณฮาร์ดดิสก์มีปัญหา
สายสัญญาณฮาร์ดดิสก์ก็มีโอกาสเสียได้เช่นกัน แม้จะพบเจอได้ไม่มากนัก เมื่อสายสัญญาณฮาร์ดดิสก์ส่งสัญญาณได้ไม่ปกติ ก็จะทำให้เกิดอาการคอมค้างได้เช่นเดียวกัน

 

ตัวอย่างอาการเสียของฮาร์ดดิสก์

  • การเขียนอ่านผิดปกติ
  • มี bad sector หรือจุดเสียบนฮาร์ดดิสก์

วิธีแก้ปัญหาคอมค้าง

1. ตรวจสอบการทำงานของซีพียู และแรมผ่าน task manager ที่ tab Performance ดังนี้

ตรวจสอบการใช้งานซีพียูและแรม
– ดูที่ Memory หากพบว่า memory ใช้งานเต็ม ก็แสดงว่าเกิดจากปัญหาแรมไม่พอ ให้แก้ปัญหาเบื้องต้นด้วยการปิดบางโปรแกรมทิ้งไป และอาจต้องเพิ่มแรมในอนาคต

– ดูที่ CPU Usage หากพบว่ามีการใช้งานสูงจนเกือบๆ 100% ก็ให้ดูรายละเอียดการใช้งานซีพียูอีกที โดยไปที่ tab process >> กดที่คำว่า CPU เพื่อเรียงลำดับตามเปอร์เซ็นการใช้งานซีพียู

ตรวจสอบ process

หากพบว่าโปรแกรมใด หรือ process ใดที่ใช้งานซีพียูสูงผิดปกติ ก็ให้แก้ไขโดยการคลิกขวาที่ process นั้น >> กด End Process (หรือเลือก process แล้วกดปุ่ม End Process ที่มุมล่างขวามือก็ได้)

end process

หรืออาจจะไปที่ tab Applications >> เลือกโปรแกรมที่ต้องการปิด >> กด End Task

end task applications

2.  ตรวจสอบฮาร์ดดิสก์
การตรวจสอบฮาร์ดดิสก์ควรใช้โปรแกรมช่วยตรวจสอบ นั่นคือโปรแกรม HD Tune โดยให้ตรวจสอบ 2 อย่างคือ

  • ตรวจสอบแท็บ health เป็นการตรวจสอบสุขภาพฮาร์ดดิสก์
  • ตรวจสอบแท็บ Error Scan เป็นการตรวจสอบ bad sector

ดูวิธีการตรวจสอบฮาร์ดดิสก์ด้วยโปรแกรม HD Tune ที่นี่

หากพบว่าฮาร์ดิสก์มีปัญหา แสดงว่าฮาร์ดดิสก์เป็นตัวการของปัญหาคอมค้าง ก็ต้องเปลี่ยนฮาร์ดดิสก์เพื่อแก้ไขปัญหา

หากใครพบเจอปัญหาคอมค้าง ทั้งคอมพิวเตอร์พีซี และโน๊ตบุ๊ค สามารถใช้วิธีการตรวจสอบตามบทความนี้ไปแก้ไขปัญหากันได้นะครับ ไม่ได้ยากอย่างที่คิดแน่นอน

3.  ทดลองสลับพอร์ทสายสัญญาณของฮาร์ดดิสก์
ปกติพอร์ทสายสัญญาณฮาร์ดดิสก์ในปัจจุบันจะเป็นพอร์ท SATA ซึ่งจะอยู่บนเมนบอร์ดมากกว่า 1 พอร์ท เราสามารถสลับสายสัญญาณฮาร์ดดิสก์ไปยังอีกพอร์ทเพื่อทดสอบอาการค้างของคอมพิวเตอร์ได้

4.  ทดลองสลับเปลี่ยนสายสัญญาณของฮาร์ดดิสก์
หากสลับพอร์ทของสายสัญญาณฮาร์ดดิสก์แล้วพบว่าไม่ใช่สาเหตุของปัญหา ก็ให้ทดลองเปลี่ยนสายสัญญาณฮาร์ดดิสก์ด้วย เพราะสายสัญญาณก็อาจจะเสียหรือมีปัญหาได้เช่นกัน